August 11, 2021

[แชร์ประสบการณ์] ลองหัดมาเป็นผู้สอนครั้งแรก

“ทำไมไม่มีคนสอนเนื้อหา…เป็นภาษาไทยบ้างว่ะ” ความคิดของผมตอนอยู่ ม.4 ที่กำลังนั่งงมอยู่ท่ามกลางการเดินทางที่ไร้ซึ่งผู้ชี้แนะ กับการสอบ สอวน. (สั้นๆมันคือโอลิมปิกวิชาการนั้นแหละ) ในวิชาคณิตศาสตร์

ต้องบอกก่อนว่าผมอยู่ในโรงเรียนที่ว่ากันตามตรง ก็ไม่ค่อยมี Resources เกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไหร่ รุ่นพี่ก็มีไม่มากที่เคยเข้าค่ายนี้ แน่นอนว่าผมก็เริ่มจากการนำ Syllabus ของค่ายและการสอบคัดเลือกเข้า มาเปิดดู แล้วนำไปเปิดเทียบกับหนังสือ สอวน. ที่เป็นแหล่งอ้างอิงก็ได้พบว่า…

อ่านยากมาก ;-;
(ใส่ ;-; เพื่อลดความโหดร้าย555)

เมื่อให้คนที่เป็น Beginner อย่างผมตอน ม.4 มาลองอ่าน

แต่ส่วนตัวผมเข้าใจนะว่าการเขียนการพิสูจน์ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ให้อ่านง่าย(น่าจะหมายถึงระดับความละเอียดของการอธิบายเนื้อหาและแต่ละข้อความอะนะ)ให้ไม่ยืดยาวจนเกินไป นั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่สุดท้ายผมก็สามารถใช้หนังสือชุดนั้นและอินเตอร์เน็ตจนผ่าน Learning Curve ที่สูงชันนั้นมาได้ (เขียนเหมือนอวยตัวเองเลย ปัดโถ่555)

จนจบ ม.ปลาย และกำลังจะเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนแรกของนักศึกษาใหม่ที่น่าจะดี(?)ที่จะได้ไปเที่ยวเล่นและหาประสบการณ์ก่อนเข้าสู่นรก555 แต่กลับถูกขัดขวางด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องอยู่แต่ในบ้านเพื่อลดการสัมผัสกับคนภายนอก

พอผมได้นึกถึงเรื่องนี้ประกอบกับการต้องอยู่บ้านอย่างเดียวทำให้ผมสามารถนึกขึ้นมาได้ว่า

งั้นเราลองมาสอนดูไหมล่ะ ประกอบกับผมอยากให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ที่มีคุณภาพ แม้คุณจะไม่มีทุนมากมายก็ตาม(ทุนในที่นี้ ผมขอหมายถึงเงิน และคนที่ช่วยทำให้คุณไปสู่เป้าหมายได้) เนื่องจากตัวผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่มีทุนในเรื่องเกี่ยวกับคนมากเท่าไร (แต่โชคดีที่ในโรงเรียนมีครูท่านหนึ่งที่เคยสอนนักเรียนกลุ่มผู้แทนประเทศมาก่อน แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี)

งั้นจะรออะไรละ เราก็ไปเริ่มเตรียมแผนการสอนซะสิ แน่นอนว่าผมไม่ได้เป็นผู้มีความรู้ทางด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือการวางแผนการสอนแต่อย่างใด ดังนั้นวิธีและสิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้จะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างกาวและไม่มีการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการสอนอย่างไร

แต่แน่นอนว่าผมได้การวางหลักและแนวคิดในการสอนไว้ว่า

“ตอนที่เรายังไม่เข้าใจ…อะ เราต้องการคำอธิบายแบบไหนถึงจะเข้าใจ… และอะไรทำให้เราเข้าใจ…เป็นครั้งแรก” จากนั้นผมได้เริ่มตั้งคำถามขึ้นมาว่า

วิดีโอ VS หนังสือ

เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะการเลือกทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์นั้นหรือตัวอักษรบนโลกอินเตอร์เน็ต นั้นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม ผมยังคงเลือกวิดีโออยู่เพราะการเขียนอธิบายบางอย่างที่ Abstract ได้ยากกว่าการพูด เรื่องของโอกาสการเข้าถึง - SEO น่าจะทำได้ยากเลยละ (มโน) เนื่องจากต้องหาที่ที่ทำ SEO ใน content แบบ evergreen ได้ยาก (นอกจากจะเสียตังค์เปิดเว็บขึ้นมาเอง) หากทำเว็บต้องมาเสียค่า server อีกซึ่งเราจน และต้องมาจัดการปัญหาเกี่ยวกับการแสดง Latex อีก (ผมหวังว่าสิ่งนี้อาจช่วยท่านได้ katex) อยากลองหัดพูดดูบ้าง เนื่องจากโดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนพูดไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่นัก เลยเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาตัวเองในเรื่องนี้ อยากทำ

ใช้ Platform ไหนดีล่ะ?

คำถามนี้สำหรับผมไม่มีอะไรมาก เพียงแค่คิดว่าเลือก platform ที่สามารถลงเป็นวิดีโอได้เป็นพอและเข้าถึงได้ง่ายนั้นคือ “Youtube” ยังไงล่ะ

Youtube Icon

ที่ไม่ใช้ facebook ทั้งที่สามารถลงวิดีโอได้ และมีโอกาสที่คนจะเข้าถึงมากกว่า(มโน) เป็นเพราะว่าคนจะเข้าถึงได้แค่ช่วงแรกเท่านั้นจากนั้น post จะโดนดันหรือโดนกลบ แล้วล้มหายตายจากไปจาก feed ของ User ( SEO อยู่ไม่นานนั้นแหละ )

เอาละหลังจากที่เราได้วางแนวคิดอันสุดแสนประเสริฐ(?)ในหัวขึ้นมาได้แล้ว เราก็ได้เริ่มด้วยคำถามต่อไปว่า…

”จะสอนอะไรดี”

ผมก็ไม่ได้อะไรมาก เริ่มจากการเปิดกลุ่ม facebook เกี่ยวกับการถาม-ตอบโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่บางครั้งมีโจทย์โอลิมปิกหรือการถามเกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบอะไรทำนองนี้

แล้วหาว่าเรื่องไหนในค่ายที่มีคนสงสัยคนข้างเยอะ แล้วผมก็พบว่า Congruence Modulo ของวิชาทฤษฎีจำนวนนี้ล่ะที่มีคนถาม Basic บ่อยมากที่สุด อีกทั้งในหนังสือ สอวน. เล่มขาวก็เปิดการสอนเรื่องนี้ได้อย่างอลังการต่อมือใหม่มากๆ และยังไม่มีคนสอนแบบเป็น public เสียเท่าไหร่(หรือผมหาไม่เจอกันนะ) เลยตัดสินใจทำเรื่องนี้ก่อนเป็นลำดับแรก

รออะไรละครับ เริ่มสิครับ!

ด้วยการไปหา reference ก่อน เพื่อความถูกต้องของเนื้อหา อ๋อ ผมบอกไว้ก่อนว่าผมให้ความสำคัญในเรื่องของความถูกต้องมาก่อนเป็นลำดับแรก แม้ concept จะเป็นการสอนท่ีทำให้เข้าใจง่ายก็ตาม(ลองคิดดูว่าถ้าสอนผิดแต่เข้าใจง่าย แล้วคนดูเอาไปสอนต่อๆไปจะเป็นเรื่องน่าสยดสยองขนาดไหน)

หลังจากที่หา ref ได้แล้วก็มาวางแนวทางการสอนในวิดีโอ ผมนั่งคิดอยู่นานมากว่าจะเริ่มการสอนอย่างไรดี ผมได้นึกย้อนกลับไปตอนที่ผมเรียนวิชาเคมีกับ อ.อุ๊ แล้วมีบทหนึ่งที่ผมไม่เคยเข้าใจในวิชาเคมีเลยนั้นคือ “พันธะเคมี” ผมพยายามในอินเตอร์เน็ตหรือหาหนังสือที่ใครๆก็บอกว่าอ่านเข้าใจง่ายมาดู แต่ไม่เข้าใจเสียที

แต่พอ อ.อุ๊ บอกว่าเราเรียนพันธะเคมีเพื่อให้เราสามารถเปรียบเทียบสาร 2 สารในเรื่องของ จุดเดือด/จุดหลอมเหลว ได้ (ไม่แน่ใจว่าผมจำถูกไหมนะ5555) ทันใดนั้นละ flow การเรียนเรื่องนี้ของผมในเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องง่ายไปโดยปริยายอย่างไม่น่าเชื่อ

ทำให้ผมได้ข้อคิดจากการสอนนี้ว่า

การเรียนที่ไม่รู้จุดประสงค์ว่าเอาไปทำอะไรได้นะ มันไม่มีประโยชน์หรอก!

จากนั้นผมได้นำข้อคิดนี้มาใช้ในวิดีโอการสอนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ต้องสอน from scracth (กล่าวคือผู้ชมไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนเลย) และผมได้ใส่ practice ในวิดีโอเพื่อเป็น CheckPoint ว่าเข้าใจจริงหรือไหม โดยออกแบบให้ใช้เวลาน้อยที่สุดในการทดลองทำแต่สามารถเช็คและเก็บได้ทุก concept ในเรื่องนี้ว่าคนเรียนตกหล่นอะไรไปหรือไม่

หลังจากถ่ายทำ(ใช้คำเว่อร์ไปมั้ย555) และตัดต่อลง เสร็จแล้วก็มาดูผลลัพธ์หรือ feedback กันสิครับ ปรากฏว่า feedback ที่ได้รับนั้น เป็น Positive อย่างมากจนน่าตกใจภายในเวลาไม่กี่วัน

จากนั้นผมก็ได้ทำวิดีโอที่ใช้เนื้อหาจากวิดีโอแรกมาสอนต่อ แต่ก็พบว่า feedback ยัง Positive อยู่แต่น้อยกว่ามากๆเมื่อเทียบกับวิดีโอแรก ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมจนบัดเดี๋ยวนี้

หลังจากนั้นได้รู้สึกว่าอยากลองสอนโจทย์บ้าง เลยเอาปัญหาจากการแข่งขันมาทำบ้าง (แอบกลัวเรื่องลิขสิทธิ์แหะ แต่ไม่ได้หารายได้และเพื่อการศึกษาคงไม่น่ามีปัญหาหรอกมั้ง?) แต่ได้รับ engagement ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อืมๆ

อีกอย่างผมได้ลองใช้ Python Library อย่าง Manim ด้วยนะ ใครสนใจการสร้างวิดีโอเกี่ยวกับการ visual ทางวิทยาศาสตร์ระดับเทพต้องลองใช้แล้วละ (อยากโม้ตรงนี้มาก ถึงใช้ไปแค่ video เดียวก็เถอะ อาจทำเป็นบทความแยกอีกที)

manim Manim Community
Manim is a community-maintained Python library for creating mathematical animations.

และผมได้ลองทำ video นอกเรื่องที่เกี่ยวกับ productivity ขึ้นมา และพบว่าคนชอบกันมาก มากกว่าคณิตศาสตร์ที่ตั้งใจสอนเสียอีก 🥲🥲🥲 (เปิดช่อง Youtube แยกเลยดีไหม555)

หลังจากเปิดช่องมา 1 ปี จนถึงตอนนี้ก็ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวอะไรเท่าไหร่แล้ว เนื่องจากเวลาที่ต้องใช้ในการทำนั้นมากเลยทีเดียว ประกอบกับผมไม่ค่อยว่างแล้วด้วย งานปี 2 กำลังจะทับผมตายในอีกไม่ช้า

ฝากถึงคนที่อยากทำช่อง Youtube เกี่ยวกับ การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์

แล้วหวังว่าผมจะได้เห็นสื่อเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ในแบบต่างๆ ฝีมือคนไทยในอนาคตนะครับ :)